TH
โชห่วยไทย
สนับสนุนให้คุณมีรายได้

เรายินดีให้คำปรึกษาและเปิดการสอนสำหรับเปิดบริการร้านโชห่วย

การปรับตัวครั้งใหญ่ของ MBK ทำอย่างไร ในวันที่ไม่มีลูกค้าชาวต่างชาติ

“ทำงานแบงก์มา 27 ปี และมาทำงานที่มาบุญครองได้เจ็ดปี ปีนี้ขึ้นปีที่แปด ไม่ว่าจะเกิดโรคอะไรก็แล้วแต่ วิกฤตต้มยำกุ้ง แฮมเบอร์เกอร์  ม็อบทางการเมือง อันนั้นวิกฤตเป็นส่วนๆ

แต่อันนี้คือวิกฤตที่เกิดไปทั่วโลก เป็นวิกฤตที่หนักหนาสุดตั้งแต่อยู่มา เกิดมา 61 ปี ไม่เคยเจอ”

 

นี่คือคำตอบของ สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ที่บอกกับ Marketeer ในวันนี้

นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายครั้งใหม่ของ “มาบุญครอง” หรือ “MBK” ที่จะทำอย่างไรในวันที่ ‘มาบุญครอง’ ไม่มีลูกค้าต่างชาติมาเดินช้อปปิ้ง ใช้จ่ายในศูนย์การค้าเหมือนที่ผ่านจากสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

“รายได้ถ้ามีศูนย์การค้าอย่างเดียว วันนี้เจ๊ง แต่โชคดีที่เครือเอ็มบีเคกรุ๊ปมีบิสซิเนสยูนิตต่างๆ ที่ทำให้วันนี้ไม่กำไรมาก แต่ก็ไม่เข้าเนื้อ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค 7 ปีที่ผ่านมาไม่เคยขาดทุน ถือเป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงทุกคน แต่มาวันนี้ไม่ใช่แล้ว”

ตั้งแต่ช่วงปี 2540 เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ โฟกัสกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น เพราะในยุคนั้นเจอวิกฤตค่าเงินบาท คนไทยไม่มีกำลังซื้อ

ชาวต่างชาติจึงเป็นคำตอบที่จะช่วยสร้างรายได้ได้ ร้านรวงในศูนย์การค้าก็ปรับตัวหันมาขายแต่สินค้า ของฝากสำหรับชาวต่างชาติทั้งนั้น

รวมถึงยังเหมือนเป็นพื้นที่ “ไข่แดง” ในเรื่องสินค้าก็อปแบรนด์เนม ทำให้ชื่อเสียงของเอ็มบีเค เซ็นเตอร์เป็นหนึ่งในเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เมื่อมาเที่ยวกรุงเทพฯ แล้วจะต้องแวะมา

ลูกค้าคนไทยเลยค่อยๆ หายไปเพราะมาแล้วไม่ตอบโจทย์ บวกกับมีศูนย์การค้าเกิดใหม่เป็นทางเลือกมากมาย

ภาพจำที่เป็นแม็กเน็ตที่ยังสามารถดึงลูกค้าคนไทยให้มาใช้บริการคือ

ยังเป็นเดสทิเนชั่นในการเป็นแหล่งขายโทรศัพท์มือถือ แก็ดเจ็ตต่างๆ หาที่ไหนไม่เจอมาที่นี่มีทุกอย่าง ที่วันนี้อาจจะถูกดิสรัปจากออนไลน์ไปบ้าง

วันนี้จึงต้องสลัดภาพจำที่ว่าเป็นศูนย์การค้าสำหรับชาวต่างชาติ

มาเป็นศูนย์การค้าของทั้งคนไทย และต่างชาติที่ต้องมาช้อปปิ้ง และใช้บริการ ครั้งใหญ่ในรอบ 36 ปี ตั้งแต่เปิดศูนย์การค้ามา

ร้านค้าที่มีกว่า 1,700 ร้านค้าวันนี้หายไปเกือบ 10% จากที่เคยมีลูกค้าใช้บริการวันละ 80,000-100,000 คนต่อวัน เป็นชาวต่างชาติมากถึง 60-70%

ตอนนี้ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ลูกค้าชาวต่างชาติแทบจะเป็นศูนย์

แม้ตอนนี้ศูนย์การค้าจะกลับมาเปิดให้บริการแล้ว แต่ทราฟฟิกลูกค้าที่มาใช้บริการมีเพียง 30,000 คนต่อวัน และเป็นลูกค้าคนไทยทั้งสิ้น

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นเอ็มบีเคเริ่มปรับลุคมากขึ้น

เมื่อต้นปี สมพล เคยแถลงข่าวว่า ปีนี้เอ็มบีเคชูกลยุทธ์ “ไอดอล มาร์เก็ตติ้ง” เพื่อตอบรับกระแสนิยมของวัยรุ่นคนรุ่นใหม่ ที่จะทำให้ลูกค้าคนไทยใช้เวลาในศูนย์การค้านานขึ้น

ครั้งนี้จึงเป็นการปรับโฉมครั้งใหญ่ทั้งภายนอก ภายใน ปรับโซนต่างๆ

ที่สมพลบอกว่า เอ็มบีเคคิดมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ว่าจากนี้ไปเอ็มบีเคจะไม่พึ่งลูกค้าต่างชาติทั้งหมด จะปรับศูนย์การค้าให้เจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มเด็กกำลังโต

ช่วงนี้ในเวลาที่นักท่องเที่ยวยังมาไม่ได้ ก็ใช้โอกาสในการปรับปรุงศูนย์การค้า ที่เป็นแผนรองรับนักท่องเที่ยวที่จะกลับมาอย่างเร็วที่สุดน่าจะไตรมาส 2 ปีหน้า

อ่าน : เมื่อเบื้องหลังธนชาต ยังมีมาบุญครอง และสยามพิวรรธน์

แล้วคราวนี้ MBK ปรับปรุงอะไรบ้าง

สมพล บอกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคจะกลับมาโดยเริ่มจากธุรกิจอาหารก่อน ส่วนธุรกิจแฟชั่นยังต้องเลี้ยงตัวเองที่ตอนนี้มองแค่ขอทุนคืนน่าจะยังแฮปปี้มากกว่า

การปรับโฉมของเอ็มบีเคในครั้งนี้จึงปรับทิศทางทั้งหมดทุกชั้นโดยจะเน้นให้เป็นแหล่งร้านอาหาร และเป็น Education Zone  Hub มากยิ่งขึ้น

ชั้น G  และชั้น 2 จากที่โซนด้านหน้าฝั่งถนนพญาไท สกายวอล์คเชื่อมบีทีเอส ที่มีร้านแฟชั่น ก็ปรับเป็นโซนร้านอาหารมากขึ้น มีร้านใหม่ๆ ตกลงแล้ว 9 ร้านค้า และบางร้านก็อยู่ในขั้นตอนเจรจา

ชั้น 3 จะเป็นชั้นรวมสินค้าแฟชั่น จิวเวลรี่ สินค้าสำหรับลูกค้าต่างชาติทั้งหมด

ชั้น 4 ยังคงเป็นแม็กเน็ตเดิมคือ ชั้นของมือถือ และธนาคาร

ชั้น 5 ทั้งหมด และชั้น 6 บางส่วน จะเป็นโซนใหม่ที่เอ็มบีเคหมายมั่นปั้นให้โซนที่จะสร้างทราฟฟิกคนมาใช้บริการมากขึ้น คือ Education Zone มีสถาบันการศึกษา กวดวิชาครบ 19 สถาบันที่พร้อมเปิดเต็มรูปแบบต้นปี 2564

“พ่อแม่ส่งลูกหลายมารียนพิเศษ และตัวเองก็มาช้อปปิ้งรอ”

ชั้น 7 คือส่วนของเอ็นเตอร์เทนเมนต์ พื้นที่ของเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้ทำกิจกรรมต่างๆ

 

สัดส่วนพื้นที่ของ MBK  หลังจากปรับโฉม แบ่งเป็น

 

อาหาร 22%

แบงก์และเซอร์วิสต่างๆ  19%

เอ็นเตอร์เทนเมนต์ 17%

มือถือ 10%

แฟชั่น 15%

ความสวยงาม 7%

และอื่นๆ

 

ส่วนโตคิว ห้างสัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่มานาน และยังอยู่ต่อ ตอนนี้ต่อสัญญาใหม่แล้ว 9 ปี แม้ทางญี่ปุ่นจะมีการชะลอการปรับปรุงไปบ้างจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ตาม

งบลงทุนปรับโฉมครั้งนี้มากกว่าพันล้านบาท ที่เริ่มทำแล้วตั้งแต่ไตรมาส 3 จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี’64

ปรับภาพลักษณ์สินค้าเกรด B+  เกรด B ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น และคาดหวังสัดส่วนลูกค้าคนไทย และต่างชาติ หลังจากนี้เป็น 50 : 50

ต้องดูกันต่อไปว่าหลังจากเอ็มบีเคปรับกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากขึ้น

และเมื่อลูกค้าต่างชาติกลับมา จะสามารถดึงทราฟฟิกให้กลับมาอย่างที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

ที่สำคัญการปรับตัวที่เจาะกลุ่มวัยเรียน คนรุ่นใหม่ให้มาใช้บริการ ก็ยังต้องเจอกับคู่แข่งที่อยู่ในโซนเดียวกันอย่างสามย่านมิตรทาวน์

และสยามสเคป ที่อยู่ตรงข้ามกำลังก่อสร้างตอกเสาเข็ม ที่รอวันเปิดในไม่ช้า

ปัจจุบันพฤติกรรมของลูกค้าคนไทยส่วนใหญ่เข้ามาใช้จ่าย

กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มเป็นสัดส่วน 89 % ของผู้ที่เข้ามาใช้บริการ

สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า ,รองเท้า ,กระเป๋า ,เครื่องประดับ) เป็นสัดส่วน 38 %

สินค้าอุปโภคบริโภคในท็อปส์ 23 %

ชมภาพยนตร์/เล่นเกมส์ 21 %

ทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ 19 %

ส่วนไตรมาสสุดท้ายของปี เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เปิดตัวแคมเปญ ช้อป ชิม โชว์ GO MBKครบเครื่องทุกเรื่องความสุขของคนไทยที่เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เพื่อตอกย้ำการรับรู้ในภาพลักษณ์ (Brand perception) ว่าเป็นศูนย์การค้าของคนไทยที่มีร้านค้า สินค้า บริการ และ อีเวนต์ ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของลูกค้าคนไทย

คาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดในไตรมาสสุดท้าย และขยายฐานลูกค้าคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กนักเรียน นิสิตนักศึกษา และวัยทำงาน ให้เข้ามาใช้บริการในศูนย์ฯ มากขึ้น

ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพข่าวจาก

marketeeronline.co