TH
โชห่วยไทย
สนับสนุนให้คุณมีรายได้

เรายินดีให้คำปรึกษาและเปิดการสอนสำหรับเปิดบริการร้านโชห่วย

“หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 18 ปี

“หนี้ครัวเรือน” ยังไม่หยุดสูงขึ้น และนับวันก็มีแต่จะมากขึ้น มากขึ้น

จากช่วงต้นปีที่เคยมีการประเมินไว้ว่า แนวโน้มในปี 2563 นี้ หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียง หรือเร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ

เราอาจจะได้เห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปที่ 80.0-81.5% ต่อ GDP

แต่มาตอนนี้ตัวเลขหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงกว่าคาดไว้เสียอีก

เพราะจากข้อมูลของ ธปท. ที่เผยแพร่ออกมาสะท้อนให้เห็นว่า “หนี้ครัวเรือน” ไตรมาส 2/2563 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงขยับขึ้นสวนทางเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ซึ่งส่งผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ18 ปี ที่ 83.8% ต่อจีดีพี

และเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสนั้นพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 9.22 หมื่นล้านบาทในไตรมาส 2/2563 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์

โดยระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัวเป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และการมีงานทำ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นนั้นสะท้อนภาพ 2 ด้านแตกต่างกัน ในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น แต่ประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่อง และต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ที่แตกต่างกันของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม

กลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบันและยังมีความสามารถในการชำระหนี้) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ในไตรมาสที่ 2/63 ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาท (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท)

ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า

กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินโดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้ และลดภาระผ่อนต่อเดือน

จำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน)

นอกจากนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังคงเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อจีดีพีในปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563

ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพข่าวจาก

marketeeronline.co